โครงสร้างบัวหลวง

ที่มา : http://www.rspg.rmutt.ac.th/2019/09/23/nelumbo/
โครงสร้างบัวสกุลปทุมชาติ (Nelumbo)
ลักษณะทางกายภาพ
ลําต้น (stolon, rhizome)
มีการเจริญเติบโตขนานใต้ผิวดิน ลําต้นอ่อนมีลักษณะเป็นสีขาวขุ่น เรียกว่า ไหล (stolon) ลําต้นที่แก่จะมีขนาดใหญ่และแข็งมีสีครีมหรือน้ําตาลอ่อน เรียกว่า เหง้า (rhizome) คนไทยนิยม เรียกว่า รากบัว
ก้านใบ (petiole)และก้านดอก (peduncle)
มีลักษณะแข็งและมีตุ่มหนามเล็กๆ (spiny) กระจายอยู่ทั่วก้าน ส่งแผ่นใบและดอกสูงเหนือระดับผิวน้ำ
ใบบัว (leaf blade)
รูปทรงกลม (orbicular) ลักษณะฐานใบ (senus) หรือโคนใบปิด (peltate) โคนและปลายใบเว้าเข้า (connate-perfoliate) ใบอ่อนใต้น้ําจะห่อตัว จนส่งใบพ้นน้ําประมาณ 1 สัปดาห์ จึงคลี่แผ่ หน้าใบไม่จับน้ํา ใบมีขนาด เส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 5-10 เซนติเมตร ไปจนถึง 30-40 เซนติเมตร ตามขนาดของต้นและพันธุ์
ดอกบัว (flower)
ดอก : เป็นดอกเดี่ยว กลีบเลี้ยง (sepal) ทั่วไปมี 4-6 กลีบ ขนาดเล็กกว่ากลีบดอกชัดเจน กลีบดอก (petal) เป็นรูปไข่ปลายแหลม ที่พบส่วนใหญ่มี 3 สีคือ สีขาว สีชมพูหรือแดง และสีเหลือง ซึ่งมักพบได้เขตอบอุ่น-หนาว เกสรเพศผู้ (Stamen) ประกอบด้วยก้านชูอับละอองเกสรสีเหลือง ภายในมีละอองเกสรสีเหลือง ตรงปลายมีระยางค์สีขาวขุ่น
ดอกตูม มีลักษณะทั้งรูปทรงไข่ปลายแหลม และรูปทรงไข่ป้อม
ดอกบาน มีลักษณะรูปทรงถ้วยและรูปทรงครึ่งวงกลม
ฝักบัว (fruit)
เป็นลักษณะผลกลุ่ม ( Aggregate fruit ) คือผลที่เกิดจากกลุ่มของรังไข่ในดอกเดียวกันของดอกเดี่ยว รังไข่แต่ละอันก็จะกลายเป็นผลย่อยหนึ่งผล แต่เนื่องจากอยู่อัดกันแน่นจึงดูคล้ายกับเป็นผลเดี่ยว