บัว (Lotus & Waterlily)
เป็นพืชน้ำชนิดหนึ่งที่มีใบและดอกสวยงาม จึงได้รับการขนานนามจากนักพฤกษศาสตร์ให้เป็น “ราชินีแห่งไม้น้ำ” บัว เป็นพืชน้ำล้มลุกที่มีทั้งลักษณะของลำต้น เป็นทั้ง หัว (Tuber) เหง้า (บัวฝรั่ง = Rhizome) หรือ ไหล( บัวหลวง = Rhizome) ใบเป็นใบเดี่ยว เจริญเติบโตขึ้นจากลำต้นใต้ดิน โดยมีก้านส่งใบและดอกชูขึ้นเหนือผิวน้ำหรือแตะผิวน้ำ โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มบัวปทุมชาติ (Family Nelumbonaceae) และกลุ่มบัวอุบลชาติ (Family Nymphaeaceae)
บัวหลวง(LOTUS)

ที่มา : http://www.rspg.rmutt.ac.th/2024/06/25/lotus-species/
1. กลุ่มบัวปทุมชาติ
จัดอยู่ในวงศ์นีลุมโบนาซีอี้ (Family : Nelumbonaceae) มีชื่อสามัญว่า โลตัส (Lotus) หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า บัวหลวง ซึ่งพบเพียงสกุลเดียวคือ สกุลนีลุมโบ (Genus : Nelumbo) เป็นบัวใบเดี่ยว ดอกเดี่ยว ใบและดอกจะงอกออกมาจากลำต้นใต้ดิน
ลำต้น : เป็นลำต้นใต้ดินเรียกว่า ไหล (Stolon) แต่ถ้าเป็นไหลที่แก่จะเรียกว่า เหง้า (Rhizome)
ก้านใบและก้านดอก : มีลักษณะแข็งและมีปุ่มหนามที่ก้าน ภายในก้านมีท่ออากาศประมาณ 4-6 ช่อง ซึ่งสามารถส่งใบและดอกเหนือผิวน้ำค่อนข้างสูง
ใบ : ใบอ่อนขอบใบจะม้วนเข้าหากันตามแนวยาวด้านบนใบ เมื่อโตขึ้นแผ่นใบมีลักษณะกลม ปลายใบและโคนใบเหว้าตื้นๆ ฐานใบเป็นแบบก้นปิดเหมือนโล่ (peltate) ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย ด้านบนใบมีสีเขียวและมีตุ่มหนามเล็ก ๆ จำนวนมากและล้อมรอบด้วยขนละเอียดซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ถ้าสัมผัสดูจะมีความรู้สึกเหมือนมีขี้ผึ้งเคลือบอยู่ จึงทำให้ผิวใบด้านบนไม่เปียกน้ำ เมื่อมีน้ำหยดลงด้านบนของแผ่นใบและทำให้เกิดปรากฎการน้ำกลิ้งบนใบบัว ส่วนด้านหลังใบเป็นสีเขียวอ่อน
ดอก : กลีบดอกรูปไข่ปลายแหลม
ดอกตูม : มีลักษณะทั้งรูปทรงไข่ปลายแหลม และรูปทรงไข่ป้อม
ดอกบาน : มีลักษณะรูปทรงถ้วยและรูปทรงครึ่งวงกลม
บัวหลวงสามารถแบ่งตามถิ่นกำเนิดได้ 2 ชนิด คือ
1.1) บัวหลวงเขตร้อน (Nelumbo nucifera Garetn.)
เป็นบัวหลวงที่เจริญเติบโตและมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนถึงร้อนชื้น อันได้แก่ พื้นที่ซีกโลกตะวันออก ทวีปเอเชีย และออสเตรเลีย ซึ่งแบ่งตามลักษณะของทรงดอกได้ ดังนี้
- บัวหลวงปทุม บัวหลวงปัทมา หรือบัวแหลมแดง (Sacred Lotus) ดอกตูมมีรูปทรงเรียวแหลม กลีบดอกซ้อนน้อย ดอกมีสีชมพูไปจนถึงแดง
- บัวหลวงบุณฑริก บัวหลวงปุณฑริก หรือบัวแหลมขาว (Hindu Lotus) ดอกตูมมีรูปทรงเรียวแหลม กลีบดอกซ้อนน้อย ดอกมีสีขาว
- บัวหลวงสัตตบงกช หรือบัวฉัตรแดง (Roseum plenum) ดอกตูมมีรูปทรงป้อม กลีบดอกซ้อนกันเป็นจำนวนมาก เกสรบางส่วนพัฒนาไปเป็นกลีบดอก ดอกมีสีชมพูไปจนถึงแดง
- บัวหลวงสัตตบุษย์ หรือบัวฉัตรขาว (Album Plenum) ดอกตูมมีรูปทรงป้อม กลีบดอกซ้อนกันเป็นจำนวนมาก เกสรบางส่วนพัฒนาไปเป็นกลีบดอก ดอกมีสีขาว
1.2) ) บัวหลวงเขตหนาว (Nelumbo lutea Willd. หรือ Nelumbo lutea Pers.)
เป็นบัวหลวงที่เจริญเติบโตและมีถิ่นกำเนิดในเขตอบอุ่นถึงหนาว อันได้แก่ ทวีปอเมริกาเหนือ และภาคตะวันออกของประเทศสหรัฐอเมริกา และทางตอนใต้ของประเทศแคนนาดา ซึ่งบัวหลวงชนิดนี้จะมีดอกสีเหลือง และไม่สามารถให้ดอกได้เมื่อนำมาปลูกในประเทศไทย
บัวสาย บัวผัน บัวเผื่อน(WATERLILY)

ที่มา : http://www.rspg.rmutt.ac.th/2024/06/25/lotus-species/
2. กลุ่มบัวอุบลชาติ
จัดอยู่ในวงศ์นิมเฟียซีอี้ (Family : Nymphaeaceae) มีชื่อสามัญว่า วอเทอร์ลิลลี่ (Waterlily) หรือที่คนไทยรู้จักกันในกลุ่มของบัวสาย บัวผัน บัวเผื่อน บัวฝรั่ง ฯลฯ ซึ่งเป็นบัวใบเดี่ยวเรียงสลับ ดอกเดี่ยว ใบและดอกจะงอกออกมาจากลำต้นใต้ดิน
ลำต้น : มีทั้งที่เป็นหัว (Tuber) ที่มีการเจริญอยู่ในดินใต้น้ำตามแนวดิ่งหรือตั้งฉากกับพื้นดิน และเป็นเหง้า (Rhizome) ที่มีการเจริญเติบโตตามแนวนอนหรือขนานกับพื้นดิน
ก้านใบและก้านดอก : ก้านมีลักษณะอ่อนนิ่ม บางชนิดมีขนที่ก้านใบ บางชนิดมีหนาม ภายในมีน้ำยางและท่ออากาศ ก้านใบจะส่งแผ่นใบลอยน้ำหรือชูขึ้นเหนือผิวแต่ไม่สูงเท่ากับบัวหลวง ก้านดอกจะชูดอกขึ้นเหนือผิวน้ำ
ใบ : แผ่นใบจำแนกออกเป็น 3 รูปแบบ คือ รูปกลม (Orbicular) รูปไข่ (Ovate) หรือรูปหอก (Sagittate) ขนาดของใบผันแปรตามชนิดของบัว ขอบใบมีหลายแบบ ทั้งขอบใบเรียบ (Entire margin) ขอบใบหยักมน (Crenate margin) ขอบใบหยักซี่ฟัน (Dentate margin) ขอบใบหยักแหลม (Serrate margin) ขอบใบย่น (Undulate margin) ปลายใบแบ่งเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ ปลายใบแหลม (Acute) ปลายใบมน (Obtuse) ปลายใบเว้าบุ๋ม (Retuse) ปลายใบเว้าตื้น (Emarginate) และชนิดของฐานใบมี 2 แบบคือฐานใบเปิด (Openned sinus) และฐานใบปิด (Closed sinus)
ดอก : ลักษณะเป็นดอกเดี่ยว ส่วนใหญ่เป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกมีสมมาตรตามแนวรัศมี ดอกจะบานเหนือผิวน้ำ ประกอบด้วย กลีบเลี้ยง 4-6 กลีบ กลีบดอก 6-70 กลีบ หรือมากกว่า
-
- ดอกตูม มีรูปทรงดังนี้ รูปทรงรี (Elliptic) รูปทรงไข่ (Ovate) รูปทรงหอก (Lanceolate) หรือรูปทรงขอบขนาน (Oblong)
- ดอกบาน จะมี 3 รูปทรงดังนี้ รูปทรงถ้วย (Cup shape) รูปทรงแผ่ครึ่งวงกลม (Half circle shape) และรูปทรงแผ่ค่อนวงกลม (Circle shape)
บัวอุบลชาติสามารถแบ่งได้ 6 สกุล(Genus)
2.1) สกุลนิมเฟีย (Genus : Nymphaea)
ประกอบไปด้วย 6 สกุลย่อย (Subgenus) ได้แก่
- สกุลย่อยนิมเฟีย (Subgenus : Nymphaea) ได้แก่ บัวฝรั่ง หรืออุบลชาติเขตหนาว (Hardy Waterlily) เป็นบัวมีลำต้นใต้ดินที่เรียกว่า เหง้า (Rhizome) ที่มีการเจริญเติบโตตามแนวนอนหรือขนานไปกับพื้นดิน ส่วนใหญ่ใบจะมีลักษณะเป็นวงกลม (Orbicular) ขอบใบเรียบ (Entire margin) โทนสีของดอกที่พบจะมี 6 โทนสี คือ สีขาว สีชมพู สีแดง สีเหลือง สีม่วง และสีแสด โดยดอกจะเริ่มบานในช่วงเวลาเช้าไปจนถึงช่วงบ่ายหรือช่วงเย็น
- สกุลย่อยบราเคียเซอเรส (Subgenus : Brachyceras) ได้แก่ บัวผัน-บัวเผื่อน หรืออุบลชาติเขตร้อนบานกลางวัน (Tropical Day Blooming Waterlily) เป็นบัวมีลำต้นใต้ดินที่เรียกว่า หัว (Tuber) ที่มีการเจริญเติบโตตามแนวดิ่งหรือตั้งฉากกับพื้นดิน ลักษณะใบที่พบส่วนใหญ่จะเป็น รูปไข่ (Ovate) ขอบใบที่พบจะมีทั้งขอบใบหยักมน (Crenate margin) และขอบใบหยักซี่ฟัน (Dentate margin) การหยักของขอบใบไม่สม่ำเสมอ โทนสีของดอกมี 9 โทนสี คือ สีขาว สีชมพู สีแดง สีเหลือง สีแสด ฟ้าคราม สีม่วงน้ำเงิน สีม่วง และสีเหลือบ (มีมากกว่า 2 สีในดอกเดียวกัน) ดอกจะเริ่มบานในช่วงเช้าหุบในช่วงเย็น
- สกุลย่อยโลโตส (Subgenus : Lotos) ได้แก่ บัวสาย-บัวกินสาย หรืออุบลชาติเขตร้อนชื้นบานกลางคืน (Tropical Night Blooming Waterlily) เป็นบัวมีลำต้นใต้ดินที่เรียกว่า หัว (Tuber) ที่มีการเจริญเติบโตตามแนวดิ่งหรือตั้งฉากกับพื้นดิน ใบมี 3 รูปแบบได้แก่ รูปกลม (Orbicular) รูปไข่ (Ovate) หรือรูปหอก (Sagittate) ใบรูปหอกจะพบเห็นตอนเป็นใบอ่อน มีขอบใบแบบหยักแหลม (Serrate margin)และค่อนข้างสม่ำเสมอ ดอกมีอยู่ด้วยกัน 3 โทนสี คือ สีขาว สีแดง และสีชมพู ดอกจะบานช่วงเวลากลางคืนเรื่อยไปจนถึงช่วงเวลาสายๆ ของอีกวัน
- สกุลย่อยไฮโดรคาล์ลิศ(Subgenus : hydrocallis) ได้แก่ บัวอเมริกันบานกลางคืน (American Night Blooming Waterlily) เป็นกลุ่มบัวที่พบในอเมริกากลาง และอเมริกาใต้เป็นส่วนใหญ่ มีลำต้นใต้ดินที่เรียกว่า หัว (Tuber) ที่มีการเจริญเติบโตตามแนวดิ่งหรือตั้งฉากกับพื้นดินมีลักษณะใบลอยบนผิวน้ำ แผ่นใบมีรูปร่างค่อนข้างวงกลม (Orbicular) ขอบใบหยักมน (Crenate margin) แผ่นคล้ายบัวฝรั่ง ดอกบานตอนช่วงหัวค่ำมีและมีอายุการบานของดอกสั้นมาก ประมาณ 1-2 ชั่วโมง ส่วนใหญ่สีดอกจะมีสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง
- สกุลย่อยคอนฟลูเอนเตส (Subgenus : Confluentes) ได้แก่ บัวยักออสเตรเลียกลุ่มเมล็ดเล็ก เช่น Nymphaea violacea Lehm. เป็นบัวมีลำต้นใต้ดินที่เรียกว่า หัว (Tuber) ที่มีการเจริญเติบโตตามแนวดิ่งหรือตั้งฉากกับพื้นดิน แผ่นใบลอยบนผิวน้ำ มีขนาดใหญ่กว่าบัวผัน-บัวเผื่อนทั่วไป ขอบใบหยักแบบซี่ฟัน (Dentate margin) ดอกชูเหนือผิวน้ำได้มากกว่าบัวผัน-บัวเผื่อน และสามารถสูงได้มากกว่า 1 เมตรเมื่อต้นบัวมีความสมบูรณ์ ดอกมีขนาดค่อนข้างใหญ่ กลีบดอกรูปทรงเรียวปลายกลีบแหลม หรือมน ก้านเกสรจะมีรูปทรงโค้งงอเล็กน้อยและมีสีเหลือง มีระยะห่างของก้านเกสรน้อยกว่าบัวยักออสเตรเลียกลุ่มเมล็ดใหญ่ สีของดอกที่พบจะมีสี คือ สีขาว สีฟ้า สีม่วงน้ำเงิน และสีชมพู ดอกจะเริ่มบานในช่วงเช้าหุบในช่วงเย็น
- สกุลย่อยอะเนปย่า (Subgenus : Anecphya) ได้แก่ บัวยักออสเตรเลียกลุ่มเมล็ดใหญ่ เช่น Nymphaea gigantea Hook., Nymphaea atrans S.W.L.Jacobs, Nymphaea carpentariae S.W.L.Jacobs & Hellq., Nymphaea immutabilis S.W.L.Jacobs มีลักษณะเช่นเดียวกับบัวยักออสเตรเลียกลุ่มเมล็ดเล็ก ก้านเกสรมีระยะห่างจากโคนกลีบเห็นชัดเจน สีของดอกที่พบจะมีสี คือ สีขาว สีฟ้าอมม่วง บางสายพันธุ์สามารถเปลี่ยนสีได้ตามช่วงระยะเวลาของการบาน เช่น Nymphaea atrans S.W.L.Jacobs โดยที่ดอกบานวันแรกจะเป็นสีขาว วันที่สองดอกจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู และจะเข้มขึ้นในวันถัดไป
2.2) สกุลวิกตอเรีย (Genus : Victoria)
ได้แก่ บัววิคตอเรียหรือบัวกระด้ง (Victoria) มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริการกลาง แถบลุ่มน้ำอเมซอน ชาวอังกฤษได้ไปค้นพบในสมัยการล่าอาณานิคม และได้เก็บเมล็ดนำไปปลูกเลี้ยงที่ประเทศอังกฤษ จากนั้นได้ตั้งชื่อสามัญให้ว่า วิกตอเรีย เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติให้กับพระราชินีวิกตอเรียที่ปกครองประเทศอังกฤษ ณ เวลานั้น
ลำต้น : เป็นลำต้นใต้ดินที่เรียกว่า หัว (Tuber) ที่มีการเจริญเติบโตตามแนวดิ่งหรือตั้งฉากกับพื้นดิน รากเจริญมาจากก้านใบ
ก้านใบและก้านดอก : อ่อนนิ่ม และมีหนาม
ใบ : แผ่นใบลอยบนผิวน้ำและมีขนาดใหญ่ ใบอ่อนลักษณะคล้ายรูปหัวใจ ใบแก่เป็นรูปวงกลม (Orbicular) ขอบใบยกตัวขึ้น บริเวณด้านหลังใบ กลีบเลี้ยงของดอก จะมีหนามแหลมอยู่ทั่วบริเวณ ด้วยลักษณะของใบที่ขอบใบยกตั้งขึ้นเหมือนกับกระด้งที่ใช้ฝัดข้าว ผู้ปลูกเลี้ยงชาวไทยจึงให้ชื่อเรียกกันทั่วไปว่า “บัวกระด้ง”
ดอก : ดอกจะบานเวลากลางคืนและมีสีขาว และจะเปลี่ยนเป็นสีขาวอมชมพูในช่วงเวลาเช้าของวันถัดไปจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้มในช่วงเวลาบ่ายจนถึงเย็น
บัวสกุลวิกตอเรีย มี 3 ชนิด โดยจำแนกตามถิ่นกำเนิดได้ดังนี้
- บัววิกตอเรีย อะเมซอนนิก้า (Victoria amazonica (Roepp.) Sowerby.) มีถิ่นกำเนิดตามแนวลุ่มน้ำอะเมซอน แถบประเทศบราซิล โบลิเวีย และกายอานา มีเอกสารดั้งเดิมบางฉบับใช้ชื่อว่า วิกตอเรีย รีเจีย (Victoria regia Lindl.)
- บัววิกตอเรีย ครูสิอาน่า (Victoria cruziana Gibigmy. Victoria cruziana d’Orbigny) มีถิ่นกำเนิดแถบที่มีอากาศหนาวเย็นและแห้ง ทางตอนใต้ลุ่มแม่น้ำประเทศ โบลิเวีย ปารากวัย และอาร์เจนติน่า
- บัววิกตอเรีย โบลิเวียน่า (Victoria boliviana) เป็นบัววิคตอเรียชนิดใหม่ของโลก ที่ปลูกในกลางสวนพฤกษศาสตร์ Royal Botanic Gardens Kew ในประเทศอังกฤษซึ่งปลูกมานานกว่า 177 ปี ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรีย โดยถูกบันทึกว่าปลูกมาพร้อมๆ กับอีก 2 ชนิด ที่ผ่านมาเข้าใจว่าที่ปลูกไว้นั้น มีเพียง แค่ Victoria amazonica และ Victoria cruziana นอกจากนี้ได้มีการปลูกไว้ที่ National Herbarium of Bolivia มาตั้งแต่ 34 ปีที่แล้ว แต่เข้าใจผิดว่าเป็นชนิดเดียวกันกับที่พบมาก่อนนี้ แต่หลังจากผู้เชี่ยวชาญของ Royal Botanic Gardens Kew ทำงานร่วมกับทีมจากโบลิเวียเพื่อศึกษาและพบว่าเป็นพันธุ์ที่สาม จากนั้นได้ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Plant Sciences ว่าเป็นบัววิกตอเรียที่มีขนาดใหญ่ที่สุด
2.3) สกุลยูรีเอลี (Genus : Euryale)
ได้แก่ บัวยูรีเอลี เฟอร์รอกซ์ (Euryale ferox Salisb.) ซึ่งเป็นบัวที่มีลักษณะใกล้เคียงกับบัวสกุลวิกตอเรีย (Victoria) มาก มีถิ่นกำเนิดในเขตอบอุ่น – หนาวของเอเชีย แถบประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และทางตะวันออกของรัสเซีย
ลำต้น : เป็นลำต้นใต้ดินที่เรียกว่า หัว (Tuber) ที่มีการเจริญเติบโตตามแนวดิ่งหรือตั้งฉากกับพื้นดิน
ก้านใบและก้านดอก : อ่อนนิ่ม และมีหนาม
ใบ : แผ่นใบลอยบนผิวน้ำ แผ่นใบอ่อนคล้ายรูปหัวใจ แผ่นใบแก่มีรูปร่างกลม (Orbicular) ด้านหลังแผ่นเป็นสีม่วงสด ขอบใบเรียบไม่ยกขอบตั้งขึ้นเหมือนกับบัวกระด้ง ด้านบนแผ่นใบ ด้านหลังแผ่นใบ
ดอก : กลีบเลี้ยงของดอก จะมีหนามแหลมอยู่ทั่วบริเวณ ดอกบานเป็นรูปทรงถ้วย (Cup shape) กลีบดอกมีสีม่วง ดอกจะบานเหนือผิวน้ำและบ้างครั้งก็จะบานใต้ผิวน้ำ ดอกจะเริ่มบานในช่วงเวลาเช้าและจะหุบในช่วงเวลาเย็น
2.4) สกุลออนดิเนีย (Genus : Ondinea)
ออนดิเนีย (ondinea) เป็นพืชน้ำที่มีถิ่นกำเนิดทางตะวันตกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย เติบโตในลำธารตื้น ๆ ของภูมิภาค Kimberley เนื่องจากสกุลออนดิเนีย (Genus : Ondinea) มีความคล้ายคลึงกันกับ สกุลนิมเฟีย(Genus : Nymphaea) แต่แตกต่างกันตรงที่สกุลออนดิเนีย (Genus : Ondinea) จะไม่มีเยื่อหุ้มเมล็ด (Aril), และไม่มีรยางค์โพรงเกสรตัวเมีย (carpellary appendages) ภายในดอก ซึ่งในปัจจุบันจึงยังไม่ได้จัดเข้ามาอยู่ในสกุลนิมเฟีย (Genus : Nymphaea)
ลำต้น : เป็นหัว (Tuber) ที่มีการเจริญอยู่ในดินใต้น้ำตามแนวดิ่งหรือตั้งฉากกับพื้นดิน
ก้านใบและก้านดอก : อ่อนนิ่มและเรียวยาว มีสีม่วงแดง
ใบ : ใบมี 2 แบบ ทั้งใบใต้น้ำและใบเหนือน้ำ ใบใต้น้ำแผ่นใบบางยาว โปร่งแสง และเป็นมัน ด้านบนใบสีเหลืองอมเขียว และด้านล่างใบมีสีน้ำตาลอมม่วง ขอบเรียบและหยักเป็นคลื่น ปลายใบมนหรือเว้าลึก ส่วนใบลอยน้ำจะเป็นรูปไข่แคบ (narrow ovate) ด้านบนใบเป็นสีเขียวอ่อนและด้านล่างใบเป็นสีม่วง ขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย
ดอก : ดอกชูเหนือผิวน้ำ ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 – 1.8 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงแบบ Petaloid 4 กลีบ มีสีม่วงแดง กลีบดอกกลีบดอก 4 กลีบสลับกับกลีบเลี้ยง กลีบดอกรูปไข่กลับ (oblong-elliptic) กลีบมีสีม่วงแดง เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบจะโค้งงอลง
2.5) สกุลนูฟาร์ (Genus : Nuphar)
นูฟาร์ (Nuphar) เป็นสกุลพืชน้ำชนิดหนึ่งที่ถูกจัดไว้ในวงศ์นิมเฟียซีอี้ (Family : Nymphaeaceae) มีการกระจายพันธุ์ในอากาศเขตอบอุ่นไปจนถึงซีกโลกเหนือเขตอาร์กติก สามารถพบเห็นได้ตามธรรมชาติ เช่น ทะเลสาบ ลำธารหรือตามแม่น้ำ ที่มีความลึกระหว่าง 0.5-2.5 เมตร อาจมีชื่อเรียกอื่น ๆ ดังนี้ Yellow water-lily, brandy-bottle, หรือ spadderdock เป็นต้น
ลำต้น : เป็นเหง้า (Rhizome) ที่มีการเจริญเติบโตตามแนวนอนหรือขนานกับพื้นดิน
ก้านใบและก้านดอก : จะมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม (triangular) หรือครึ่งวงกลม (semi-circular) (อ้างอิง : Haslam et al. 1975; N.F. Stewart, in: Rich & Jermy 1998) มีสีเขียวและเป็นมันเงา
ใบ : ชูขึ้นเหนือผิวน้ำ แผ่นใบมีทั้ง รูปไข่ (Ovate) และรูปหอก (Sagittate) มีสีเขียวและเป็นมันเงา
ดอก : ชูขึ้นเหนือผิวน้ำ มีกลีบเลี้ยงด้านนอก 4 – 6 กลีบ กลีบดอกด้านในประกอบด้วยโครงสร้างเล็ก ๆ หนาๆ จำนวนมากซึ่งมีลักษณะคล้าย เกสรตัวผู้ (stamens) (อ้างอิง: Wiersema and Hellquist (1997), Hellquist and Crow (1984)) กลีบดอกมีเหลือง ดอกบานเป็นรูปทรงถ้วย พืชน้ำสกุลนี้จะแตกต่างจากสกุลนิมเฟีย (Genus : Nymphaea) ตรงที่กลีบดอกจะมีขนาดเล็กกว่ากลีบเลี้ยงมาก ในขณะที่สกุลนิมเฟีย (Genus : Nymphaea) ส่วนใหญ่กลีบดอกจะมีขนาดใหญ่กว่ากลีบเลี้ยง นอกจากนี้ ฝักของสกุลนูฟาร์ (Genus : Nuphar) จะถูกชูขึ้นเหนือผิวน้ำจนโตเต็มที่ ในขณะที่ ฝักของสกุลนิมเฟีย (Genus : Nymphaea) จะจมลงในน้ำทันทีหลังจากดอกบานได้ 3 – 4 วัน ดอกจะเริ่มบานในช่วงเช้าจนถึงช่วงเย็น
2.6) สกุลบราคาย่า (Genus : Barclaya)
บราคาย่า (Barclaya) เป็นพืชน้ำที่จัดอยู่ในวงศ์นิมเฟียซีอี้ (Family : Nymphaeaceae) บราคาย่า (Barclaya) มีชื่อไทยว่า “ไส้ปลาไหล” มีชื่อพ้องคือ Hydrostemma longifolium (Wall.) Mabb. และมีชื่อสามัญว่า “Orchid Lilly” เป็นพืชไม้น้ำที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในประเทศไทย และประเทศพม่า พบการเจริญเติบโตบริเวณแหล่งน้ำจืด ตามลำธาร น้ำตก จัดเป็นพืชน้ำที่มีอายุหลายปี
ลำต้น : เป็นเหง้า (Rhizome) ที่มีการเจริญเติบโตตามแนวนอนหรือขนานกับพื้นดิน
ก้านใบและก้านดอก : มีลักษณะกลมเรียวยาว และอ่อนนิ่ม
ใบ : แผ่นใบมีลักษณะเป็นรูปใบหอกยาว (Lanceolate) หรือรูปเรียวยาวคล้ายใบหญ้า (Linear) ปลายใบมน หรือแหลม ขอบใบเรียบเป็นคลื่น (Undulate) หรือเรียบ (Entire) แผ่นใบด้านบนมีสีเขียว หรือสีเขียวเข้มอมน้ำตาล ด้านล่างแผ่นใบมีสีชมพู น้ำตาล หรือม่วงแดง ฐานใบเป็นรูปหัวใจ (Cordate) อาจเป็นติ่งซ้อนกันคล้ายใบบอน หรือเป็นรูปมน (Round)
ดอก : เป็นดอกเดี่ยวสมบูรณ์เพศ ส่วนประกอบของดอกจะมีใบประดับรูปรียาว (Elliptic-oblong) 5 ใบ มีสีเขียว ที่ปลายใบประดับมีรยางค์ (appendages) กลีบดอกมีลักษณะเหมือนกันกับใบประดับจนแยกกันไม่ออกจึงเรียหว่ากลีบรวม โคนกลีบเชื่อมกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นกลีบจำนวน 7-10 กลีบ เรียงตัวเวียนสลับกันอยู่เหนือรังไข่ (Epigynous) กลีบรวมมี 2 ชั้น กลีบชั้นนอกมี 4-5 กลีบ ด้านนอกมีสีเขียว ด้านในสีม่วงแดง และกลีบชั้นในมี 3-6 กลีบ ด้านนอกและด้านในของกลีบมีสีม่วงแดง
(อ้างอิง : คุณหญิงสุชาดา ศรีเพ็ญ นางเทียม ตุลยาทร นางชุมศรี ชัยอนันต์ และนางสาวอุบลรัตน์ อินทสงค์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)