พิพิธภัณฑ์บัว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นสถานที่หนึ่งที่ผมห่วงใย ลุ้น ให้อยู่รอด ปลอดภัย เหมือนคนที่รู้จัก เคารพนับถืออีกหลายราย ที่อยู่ในย่านน้ำท่วม หนัก เมื่อเดือนกันยายน-ตุลาคม
ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้กลางแจ้งเรื่องบัว พืชน้ำ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ความเชื่อทางศาสนา เทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ และความเบิกบานของคนหลายประเทศมานับพันปี มีบัว ที่มีดอกและใบให้ชมได้ตลอดวันตลอดคืน …ถ้ามีเวลาเฝ้ารอ ทุกนาที จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของบัว แดดยามเช้าเห็นอย่างหนึ่ง สายหน่อย ก็งามไปอีกแบบ ยืนจนเที่ยง แดดร้อนเปรี้ยงก็ยังอยากยืนถ่ายภาพต่อ
“เสียหายเล็กน้อย กำลังฟื้นฟูครับ” ผศ.ภูรินทร์ อัครกุลธร ผู้รับผิดชอบดูแลพิพิธภัณฑ์บอกกับเรา ท่ามกลางอ่างบัวขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางเมตรกว่า ตอนเช้าตรู่ วันกลางสัปดาห์ก่อน โดยขยายความว่า บัวเป็นพืชน้ำ เมื่อเจอน้ำมาก ๆ ก็ลอยตัวสูง ยืดรากให้ยาวขึ้น ถ้าเป็นต้นพันธุ์ ซึ่งมีดินอัดแน่น น้ำหนักเยอะ อ่างก็จมกับที่ ส่วนอ่างบัวโชว์ เบากว่า ทานแรงไม่ไหว ไหลตามน้ำไปติดริมรั้ว ที่ลอยเลยหายไปก็มี พอน้ำลดก็พากันลากกลับ
นึกภาพการลากอ่างบัวโตขนาดสามคนโอบเป็นพันใบแล้ว นับถือใจของทุกท่านที่ร่วมกันอย่างแท้จริง
อาจารย์บอกว่า บัวงาม ระดับแชมป์โลก อย่าง มังคล อุบล ลูกผสมสีส้มแสด กลีบซ้อนเยอะ ดอกดก ออกดอกทั้งปี ยังรอด บัวฉลองขวัญ สีม่วง น้ำเงินที่ได้รับยกย่องจากต่างประเทศเป็น คิงออฟสยาม ก็ยังอยู่ รวมถึง บัววันวิสาข์ ที่เคยได้กวาดมาถึง 3 รางวัล รางวัลชนะเลิศประเภทบัวฝรั่งลูกผสมใหม่ รางวัลยอดเยี่ยมของงาน และรางวัลขวัญใจมหาชน ก็มีให้ชมได้
ปัญหาใหญ่ของพิพิธภัณฑ์อยู่ที่ความสกปรกที่ปนมากับน้ำ และหอยเชอรี่ ที่จะกัดกินบัว จึงต้องช่วยกันกำจัด ด้วยวิธีทางชีวภาพ
พิพิธภัณฑ์จึงต้องการจิตอาสามาช่วยกันดูแล นับแต่ทำความสะอาดและการสนับสนุนอื่น ๆ เพราะมหาวิทยาลัยได้รับความเสียหายมากมาย ต้องกระจายงบประมาณไปหลายส่วน บางอย่างต้องการแบบเร่งด่วนก็อาจเจียดมาไม่ทัน
ประสงค์จะร่วมบริจาคต้นไม้หรือเงินช่วยโครงการ ก็ติด ต่อกันโดยตรงที่มหาวิทยาลัย 0-2549-4990-2
ผศ.ภูรินทร์ บอกว่าการศึกษาวิจัยเรื่องบัวที่ทำมาหลายปี มิใช่แค่เอาไว้ชมความงามอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาที่จะนำองค์ความรู้ไปสู่การสร้างอาชีพให้ชาวบ้านปลูกบัวขาย เพราะความหลากหลายของบัว จึงมีทั้งชนิดมีดอกสวย ใบสวย กลิ่นหอม ทั้งกำลังริเริ่มชักชวนให้เกิดกระแสการใช้บัวเป็นไม้ตัดดอก ไม้ประดับ ซึ่งมีคุณค่า ราคาก็ไม่แพง
ขณะที่ฟื้นฟูหลังน้ำลด ก็ยังไม่หยุดพัฒนา ตอนนี้ ก้าวไปอีกขั้นด้วยการขยายพันธุ์บัวใบลาย ให้ “ดูใบ” กันง่าย ๆ ไม่ต้องไปไหนไกล
ฟ้ากว้าง: จิตอาสาฟื้นบัว
